รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

29 กุมภาพันธ์ 2024
19518   0

Lawyer Council Online Share

  • ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3186.ตกลงทำสัญญาเป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1884/2566 (เล่ม 9 หน้า 2097) หนังสือรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ระหว่างธนาคารโจทก์เจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทำขึ้นด้วยใจสมัคร และตรงตามเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ได้มีวัตถุประสงค์อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 680 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง อันจะถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับกันได้ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อโจทก์

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากธนาคารโจทก์ โดยตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย ผ่อนชำระทุกเดือน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ตามข้อตกลงได้

2 ธนาคารโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลย ที่ 1 ตกลงที่จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยยอมร่วมรับผิดกับลูกหนี้เต็มจำนวนตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้

3 แต่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้เพียงบางส่วน โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และนำมาฟ้องเป็นคดีนี้

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามฟ้อง และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

5 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน

6 โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ตกลงชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่มีลักษณะเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงมีผลใช้บังคับกันได้

7 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตกลงชำระหนี้แทนลูกหนี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกนี้ร่วม กับการค้ำประกันลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้มีลักษณะเป็นการยอมผูกพันตนในการชำระหนี้เพื่อผู้อื่นเช่นเดียวกัน การจะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของนิติกรรม ทั้ง 2 ประเภทนั้น ต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ที่แตกต่างกัน ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาเป็นสำคัญ

8 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849