รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

27 กุมภาพันธ์ 2024
18026   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3184.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศูนย์ดำรงธรรม

คำพิพากษาฎีกาที่ 4020/2566 (เล่ม 10 หน้า 2500) สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์กับจำเลยทำขึ้น หลังจากโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินภายในกำหนดคงระบุว่า จำเลยขอรับคืนเฉพาะต้นเงิน 400,000 บาท และโจทก์จะขอกู้ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนมาชำระหนี้แก่จำเลย โดยมิได้กล่าวถึงสัญญาขายฝากซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลเพียงว่า จำเลยยอมให้โจทก์ไถ่ทรัพย์สินคืนด้วยเงิน 400,000 บาท หลังพ้นเวลาที่กำหนดในสัญญาได้เท่านั้น โดยโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาขายฝากยังมีอยู่มิได้ระงับสิ้นไป โจทก์ทำนิติกรรมตามสัญญาขายฝากนับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์กับจำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันกันจริงตามสัญญาขายฝากที่ดิน แต่เป็นการทำสัญญาขายฝากเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝากเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือ นิติกรรมกู้ยืมเงินจำนวนต้นเงิน 400,000 บาท เท่ากับยอดเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้กู้มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ จำนวน 400,000 บาท ครบถ้วน โจทก์ซึ่งเป็นผู้กู้ยังไม่ชำระหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกโฉนดที่ดินคืนจากจำเลย และเมื่อนิติกรรมขายฝากตกเป็นโมฆะ ย่อมถือเสมือนว่าไม่มีการทำนิติกรรม เช่นนี้ ไม่จำต้องเพิกถอนนิติกรรมขายฝากอีก

(หมายเหตุ 1 วันที่ 25 เมษายน 2557 โจทก์กู้ยืมเงินจำเลย 400,000 บาท และจดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้แก่จำเลย มีกำหนดไถ่คืน 1 ปี

2 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่คืนภายในกำหนด แต่ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรม

3 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โจทก์กับจำเลยตกลงกันที่ศูนย์ดำรงธรรมว่า จำเลยขอรับเงินคืนเฉพาะต้นเงิน 400,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย และโจทก์จะขอกู้ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน มาชำระหนี้แก่จำเลย แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

4 ปลายปี 2561 โจทก์นำเงิน 400,000 บาท ไปชำระแก่จำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ว่า สัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน

5 ในทางนำสืบ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยยอมรับว่า โจทก์มาขอกู้ยืมเงินจำเลย 400,000 บาท โดยนำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน แต่จำเลยเห็นว่า ที่ดินมีเนื้อที่เพียง 87 ตารางวา หากโจทก์ไม่ชำระหนี้เป็นเวลานานเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วราคาที่ดินจะไม่คุ้มกับยอดหนี้ จำเลยจึงตกลงให้โจทก์กู้ยืมเงินโดยทำสัญญาขายฝากพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกัน

6 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงิน 400,000 บาท แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์

7 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาขายฝากระงับสิ้นแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

8 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้นโดยพิพากษากลับเป็นว่า สัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ลงวันที่ 25 เมษายน 2557 ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับเงินจำนวน 400,000 บาท จากโจทก์ เมื่อได้รับชำระครบถ้วนแล้วให้จำเลยคืนโฉนดแก่โจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849