รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

24 กุมภาพันธ์ 2024
20200   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3180.อำนาจสืบสวนกับอำนาจสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3682/2566 (เล่ม 9 หน้า 2238) คดีข้อหาความผิดที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทำนองว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อพิรุธบกพร่องยังเป็นที่สงสัยตามสมควร จำเลยไม่ได้กระทำความผิด เท่ากับเป็นการขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามมาตรา 221 แต่มีเพียงคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เช่นนี้ฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อำนาจในการสืบสวนไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจเจ้าพนักงานตำรวจให้ทำการสืบสวนได้เฉพาะในท้องที่ที่ตนประจำการเท่านั้น เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจสืบสวนในท้องที่อื่นใดได้ตามอำนาจและหน้าที่ทั่วราชอาณาจักร ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 17 ส่วนอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน มีอำนาจสอบสวนเฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของตนตามมาตรา 18 และมาตรา 19 เท่านั้น และร้อยตำรวจเอก ค. และดาบตำรวจ ร. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำการในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร มิได้ประจำการในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง อันเป็นเขตพื้นที่ของการสอบสวน การสืบสวนในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานทั้งการติดตามจับกุมจำเลยของร้อยตำรวจเอก ค. และดาบตำรวจ ร. ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นการสืบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย การสอบสวนของพนักงานสอบสวนชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

(หมายเหตุ 1 คดีข้อหาความผิดที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมืชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย มิใช่ทำเป็นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849