รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

24 กุมภาพันธ์ 2024
21439   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3181.ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2566 (เล่ม 2 หน้า 174) ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ของเจ้ามรดกให้เสร็จสิ้นไม่ว่าทรัพย์สินประเภทใดๆ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.บรรพ 6 ลักษณะ 4 ตามส่วนแห่งสิทธิที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลย่อมมีหน้าที่จัดการทรัพย์และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกตามกฎหมาย และการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ นอกจากต้องมีองค์ประกอบภายนอกที่จำเลยกระทำโดยการโอนที่ดินรวม 35 แปลงตามฟ้อง ยังต้องประกอบด้วยเจตนา ตาม ป.อ. มาตรา 59 ซึ่งเป็นการรู้สำนึกในการกระทำอันเป็นเจตนาทั่วไป และต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 1 (1) ด้วย

จำเลยที่ 1 รู้ว่า ที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง 35 แปลง เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ต้องแบ่งปันแก่ทายาททุกคน แต่จำเลยที่ 1 กลับจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง แล้วโอนให้แก่ ส. ซึ่งมิใช่ทายาท โดยโจทก์ร่วมไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอม ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลซึ่งมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิที่แต่ละคนมีอยู่ กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 35 แปลงดังกล่าวมาเป็นของตน และบุคคลที่ 3 แต่เพียงผู้เดียวโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริง ส. เป็นมารดาของโจทก์ร่วม ภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส.ฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วม กับพวก เป็นจำเลยขอแบ่งสินสมรสในที่ดินของผู้ตายทั้งหมดรวม 35 แปลง แต่ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัด พิพากษาให้จำเลยทั้งหกจดทะเบียนแบ่งที่ดินจำนวน 3 แปลง ให้แก่ ส.กึ่งหนึ่ง คดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ ส. มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินทั้ง 35 แปลงกึ่งหนึ่ง

2 ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนทรัพย์มรดกทั้งหมดเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วโอนให้แก่ ส.

3 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ส. เจ้าพนักงานที่ดินได้สอบถามถึงจำนวนทายาทของเจ้ามรดก และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่า ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิมรดกต้องมีการแบ่งปันให้แก่ทายาทด้วย แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าประสงค์จะโอนที่ดินให้ตนเอง เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงดำเนินการให้โดยมีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นพยานหลักฐาน

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 จำคุก 6 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2

5 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย

6 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ นอกจากต้องมีองค์ประกอบภายนอกที่จำเลยกระทำโดยการโอนที่ดิน ยังต้องประกอบด้วยเจตนา ตาม ป.อ. มาตรา 59 ซึ่งเป็นการรู้สำนึกในการกระทำอันเป็นเจตนาทั่วไป และต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 1 (1) ด้วย

7 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849