ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3159.ผู้โอนสิทธิไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2566 (เล่ม 1 หน้า 190) การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ผู้กระทำความผิดจะต้องได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามด้วย
หนังสือบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงิน มีระบุข้อความไว้ให้เข้าใจได้ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้าง ที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากทางราชการตามสัญญาจ้างไปเป็นของโจทก์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประกันหนี้และเพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ หากเงินที่โจทก์ได้รับจากทางราชการไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่หากมีส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ก็จะคืนให้แก่จำเลยที่ 1 บ่งชี้ว่าเหตุที่โจทก์ยอมส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้ก่อสร้างตามสัญญาที่ทำไว้กับทางราชการก่อนโดยยังไม่ต้องชำระราคา ก็เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่มีอยู่แก่ทางราชการให้แก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว อันเป็นหลักประกันว่า โจทก์จะได้รับการชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ให้การสนับสนุนจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอน ฉะนั้น หากจะฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์โดยมีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะไม่โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างให้โจทก์ ด้วยการบิดพริ้วเปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่เป็นของโจทก์กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิมในภายหลังตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องจริง ก็เป็นเพราะจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะได้รับวัสดุก่อสร้างจากโจทก์มาใช้ในการทำงานโดยทุจริตด้วยการไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์นั่นเอง เงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 อันโจทก์ควรได้รับจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงเป็นเพียงสิทธิของโจทก์มีอยู่เหนือทางราชการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ในอันจะต้องชำระเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นทรัพย์สินอันจำเลยที่ 1 ได้ไปจากโจทก์โดยตรงจากผลการหลอกลวง ของจำเลยทั้งสองไม่ ทั้งยังถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นทรัพย์สินอันจำเลยที่ 1 ได้ไปจากทางราชการซึ่งเป็นบุคคลที่สามจากการหลอกลวงโจทก์ เพราะการที่ทางราชการจ่ายเงินค่าจ้างในงวดที่ 4 ถึง 7 ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 มีหนังสือเปลี่ยนแปลงการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าจ้างกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการมาแต่แรกเป็นสำคัญ หาได้มีการหลอกลวง ใดๆไม่ และแม้การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทำให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหายเพราะการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นสำเร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวดำเนินการแก่จำเลยทั้งสองเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไป
เงินค่าจ้างในงวดที่ 4 ถึง 7 ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปจากทางราชการมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงไม่เป็นความผิด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาชอบจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)