รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

31 มกราคม 2024
19742   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3157.โอนหุ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3126/2565 (เล่ม 9 หน้า 37) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่า การบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้น และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยให้โจทก์ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น 03501-06500 ซึ่งหมายเลขใบหุ้นดังกล่าวบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้

ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1129 วรรคสอง บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 4 กำหนดว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน โดยมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงลายมือชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว

ขณะเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 โจทก์ผู้ถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น เลขหมาย 03501-06500 จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์ แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกหมายเลขใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วน การถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งจนเหลือเพียงจำนวน 500 หุ้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น ตามที่มีอยู่เดิม เมื่อจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น ไปเป็นของตนเองโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 อยู่จำนวน 4,000 หุ้น ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500 หุ้น

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)