ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3155.ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนไม่ต้องแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวพันกันอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2566 (เล่ม 1 หน้า 96) โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43 (4) 78, 148, 157 ขณะที่ฟ้องนั้นผู้เสียหายยังไม่ถึงแก่ความตาย ระหว่างพิจารณา เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งโจทก์ว่า ผู้เสียหายถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องว่า ผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163, 164 บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ เมื่อขณะยื่นฟ้องผู้เสียหายยังไม่ถึงแก่ความตายย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์จะฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่า ผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเป็นผลโดยตรงซึ่งเกิดขึ้นจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย และเป็นการกระทำเดียวกันกับ คำฟ้อง เพียงแต่แก้ไขผลของการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจขอแก้ฟ้องจากการกระทำผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส เป็นข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และขอแก้บทลงโทษจาก ป.อ. มาตรา 300 เป็นมาตรา 291 ได้ เพราะการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดไม่ว่าจะทำในระยะใด ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งปรากฏตามสำนวนการสอบสวนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เรียกเข้ามาในสำนวนว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเพิ่มเติมในความผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว โดยมีรายงานการชันสูตรพลิกศพและบันทึกคำให้การแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตาย ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากภาวะหายใจล้มเหลวจากภาวะไขสันหลังบริเวณคอบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจร กระดูกหักทับเส้นประสาท
การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้นโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อแจ้งข้อหาอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดแล้ว จึงแจ้งข้อหาให้ทราบว่า กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ.มาตรา 300 แล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นให้แก่ความตาย ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดข้อหาดังกล่าวแล้ว ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้และเพิ่มเติมฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยซึ่งมีทนายความฟัง จำเลยให้การรับสารภาพเท่ากับจำเลยเข้าใจดีแล้ว คำร้องขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ได้
( หมายเหตุ 1 จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่สอบสวนและแจ้งข้อหาจำเลยในความผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าว
2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีของจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่า ผู้ต้องหาได้กระทำผิดแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบว่า กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 แล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดข้อหาดังกล่าวแล้ว
3 จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยไม่คัดค้านว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด เมื่อจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนและพ้นโทษจำคุกมาแล้วไม่เกิน 5 ปี กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849