ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3152.อายุความขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2565 (เล่ม 9 หน้า 63) โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิพากษาถอนจำเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส.ผู้ตายตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่ง แม้โจทก์จะบรรยายคำฟ้องไว้บางตอนว่าจำเลยไม่ได้เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตาย และจำเลยก็ให้การต่อสู้ด้วยว่าเป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตาย โดยผู้ตายได้ให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายตามสูติบัตร ใบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาเล่าเรียนตลอดจนแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าจำเลยเป็นบุตรของผู้ตาย ที่ผู้ตายรับรองโดยพฤติการณ์หรือตามความเป็นจริงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่ใช่บุตรตามความเป็นจริงที่ผู้ตายได้ให้การรับรองโดยพฤติการณ์หรือตามความเป็นจริงแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 คดีนี้ จึงไม่มีประเด็นที่จะให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาในปัญหาที่ว่า จำเลยเป็นบุตรที่ผู้ตายได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์หรือตามความเป็นจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เพราะจะเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142, 252 ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน และครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
ในคดีแพ่งที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายนั้น ไม่ได้มีการส่งสำเนาคำร้องขอ หรือหมายนัด หรือหมายเรียกให้แก่โจทก์ ทั้งๆที่โจทก์กับจำเลยรู้จักกันดี และติดต่อทางสื่อออนไลน์ต่างๆกันเป็นประจำ แม้ศาลจะมีการประกาศตามระเบียบหรือข้อบังคับ ก็ไม่ใช่สื่อหรือช่องทางที่แพร่หลายอันจะทำให้โจทก์หรือประชาชนทั่วไปทราบหรือเห็นได้ ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้เข้ามาคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีดังกล่าวจึงเชื่อว่า โจทก์ไม่ทราบจริง แต่เชื่อว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าศาลสั่งว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อจำเลยนำคำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอถอนฟ้องโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์จึงไม่อาจยื่นคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้
ตามสำเนาสูติบัตร และสำเนาแบบแสดงรายการทะเบียนราษฎร ระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 19 กันยายน 2539 จำเลยจึงมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 จำเลยย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์ นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ร้องหรือฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยบรรลุนิติภาวะ คดีจำเลยจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1556 วรรคสาม จึงมีเหตุให้ถอนจำเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส.ผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
(หมายเหตุ 1 โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ส.ผู้ตายกับนาง ป. วันที่ 11 ธันวาคม 2538 บิดามารดาของโจทก์จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยเป็นบุตรของนาง พ. กับนาย ส. ตามสูติบัตรระบุว่า เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539
2 วันที่ 17 ธันวาคม 2560 นาย ส.ถึงแก่ความตาย
3 วันที่ 23 มีนาคม 2561 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
4 วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
5 วันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
6 วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 จำเลยที่คำร้องขอถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
7 วันที่ 17 มกราคม 2562 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
8 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนจำเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ส. ผู้ตาย
9 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
10 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยจำเลยไม่ได้ร้องหรือฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยบรรลุนิติภาวะ คดีจำเลยจึงขาดอายุความ พิพากษากลับให้ถอนจำเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาย ส.ผู้ตาย)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849