ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3146.ฟ้องเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ต้องฟ้องนายอำเภอ มิใช่กรมการปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2565 (เล่ม 9 หน้า 50) การดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เมื่อนายอำเภอยื่นคำร้องขอรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในบริเวณที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ต้องถือว่านายอำเภอซึ่งขอให้รังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ การที่โจทก์มีคำขอให้ยกเลิกการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใดซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเฉพาะ โจทก์จึงต้องฟ้องนายอำเภอผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่อาจฟ้องบุคคลอื่นซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ยกเลิกการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้
กรมการปกครองจำเลย แม้จะมีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559 ข้อ 2 (6) กำหนดว่า จำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการพัฒนาและบริหารการปกครองท้องที่ระดับอำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และข้อ 15(1) ที่กำหนดให้สำนักงานบริหารการปกครองท้องที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รวมทั้งจัดทำแผนที่แนวเขตการปกครองและการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินตามกฎหมายก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าว เป็นเพียงกฎหมายลำดับรองจึงไม่อาจแปลความได้ว่า กรมการปกครองจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอโดยเฉพาะ กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นเพียงการกำหนดหน้าที่ให้กรมการปกครองจำเลยกำกับดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินเป็นการทั่วไปเท่านั้น ที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยยกเลิกการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและห้ามจำเลยรวมทั้งบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ซึ่งไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลย ศาลย่อมไม่อาจบังคับจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
2 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิใช่ที่ของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษายืน)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849