ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
3126.ผู้ให้สินเชื่อบัตรเครดิตจะฟ้องลูกค้าต้องมีหนังสือเตือนไม่น้อยกว่า 20 วันนับแต่ลูกค้าได้รับหนังสือทวงถาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 2612/2565 (หน้า 56 เล่ม 8) ใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลข้อกำหนดทั่วไปสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภทของธนาคารข้อ 8 คำบอกกล่าวตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารจะส่งคำบอกกล่าวตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหรือตามสัญญากำหนดให้ต้องแจ้งหรือบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้กู้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อตามที่ระบุในสัญญาหรือระบุในคำขอสินเชื่อหรือตามที่อยู่ที่ผู้กู้แจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือทั้งหลังสุด เป็นกรณีที่โจทก์ได้กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับธนาคารพาณิชย์ข้อ 4.6 ที่ว่า “เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติดังต่อไปนี้ (4) ต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนการดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย” ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งตามข้อ 1 ได้ระบุเหตุผลในการออกประกาศว่า เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชนและเป็นการป้องกันปัญหาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในอนาคตเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะบังคับชำระหนี้กับจำเลยอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้โจทก์ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามประกาศดังกล่าว การที่จำเลยนำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนการดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย
จำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะครบกำหนด 20 วันในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จึงเป็นกรณีโจทก์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849