ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3112.ความหมายผู้ได้ลาภงอกในการเพิกถอนการฉ้อฉล ไม่จำต้องรู้ว่าเป็นใคร
คำพิพากษาฎีกาที่ 1215/2566 (หน้า 1371 เล่ม 6) จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้นอกจากที่ดินพิพาท แม้หนี้ตามคำพิพากษานั้นจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมแต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 291 การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมมีผลทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลง และโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ลงชื่อในหนังสือสัญญาขายและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของ น. ซึ่งเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและ น.ยอมให้จำเลยที่ 2 ออกหน้าเป็นตัวการตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 น.จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง หาใช่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ เช่นนี้ น.จึงเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นตาม ป.พ.พ. มาตา 237 วรรคหนึ่ง เมื่อ น.รู้ตั้งแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการว่านิติบุคคลผู้ร่วมลงทุนในโครงการซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ของโจทก์ด้วยไม่มีทรัพย์อื่นที่มีมูลค่ามากไปกว่ามูลค่าของโครงการ และทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการโดยสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้เจ้าหนี้ของ พ. หรือของนิติบุคคลผู้ร่วมลงทุนในโครงการโดยเฉพาะเจาะจง ย่อมเป็นการกระทำให้เจ้าหนี้อื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยเสียเปรียบ โจทก์เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ และจำเลยที่ 2 ซึ่งแม้เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินพิพาทแทน น. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง
ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ตามความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลผู้ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย” มิได้หมายความถึงกับว่า ผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นต้องรู้ถึงตัวเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครด้วยไม่ เพียงแต่รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ของหนี้เสียเปรียบ แม้มิได้รู้ถึงตัวเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัตินี้
ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการฉ้อฉลการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามเดิม เช่นนี้ ศาลต้องยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
(หมายเหตุ 1 ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 214 เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล จึงหมายถึง เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้
2 และศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ได้รับมอบนั้นไม่จำต้องรู้ว่าตัวเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร ด้วย เพียงแต่รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้เสียเปรียบ แม้มิได้รู้ถึงตัวเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัติต้องด้วยหลักเกณฑ์เพิกถอนการฉ้อฉลได้
3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849