ความรู้กฎหมาย » หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์

หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์

14 ธันวาคม 2023
825   0

Lawyer Council Online Share

หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์
✅มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท

✅มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท

✅มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

✅มาตรา 321/1 การกระทำความผิดตามมาตรา 317 หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น

📍แนวคำพิพากษาฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2538
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และ 279 ต้องกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย เมื่อผู้เสียหาย อายุ 14 ปี 5 เดือน แต่จำเลยสำคัญผิดว่าอายุ 18 ปี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยไม่รู้จักผู้เสียหายมาก่อนก็ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยอ้างความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2539
จำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุ 17 ปี ย่อมมีผลให้จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7820/2549
ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น จำเลยมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดาและผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 318 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556
เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2564
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า “พราก” โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด
การที่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเล่นภายในบ้านของจำเลย ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 จะเข้าไปเองหรือจำเลยชักชวนหรือพาเข้าไป เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ถูกจำเลยกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปโดยปริยาย ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกโจทก์ร่วมที่ 2 ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา เป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2564
จําเลยรับและให้ผู้เสียหายทั้งสองทํางานเป็นเด็กนั่งดริ๊งก์บริการลูกค้า ลูกค้าที่ร่วมโต๊ะจะกอด จูบ ลูบ คลําตัวผู้เสียหายทั้งสอง ค่านั่งดริ๊งก์ชั่วโมงละ 120 บาท จําเลยหักไว้ 20 บาท จําเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า ได้ค่าตัว 1,500 บาท จําเลยหักไว้ 500 บาท และบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกไปกับลูกค้าแต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธเนื่องจากมีประจำเดือน การกระทำของจำเลยทําให้อํานาจปกครองของ ท. และ ณ. ถูกรบกวน โดย ท. และ ณ. ไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการพรากผู้เสียหายทั้งสองไปจากอํานาจปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
#แอดมินและคณะทำงานของ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ