รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

11 ธันวาคม 2023
545   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

3016.ผู้ค้ำประกันยินยอมให้สหกรณ์หักเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน กรณีผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้แม้ผู้ค้ำประกันมีเงินเหลือไม่เพียงพอในการดำรงชีพ ก็ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1498/2566 (หน้า 1199 เล่ม 5) โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทน หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ด้วยการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด อันเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 688 เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยได้ และให้หักรวมกับรายการหักอื่นๆเกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้ ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 วรรคสอง เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์จึงมีหนี้ที่ต้องชำระในฐานะผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือน ค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ตามหนังสือยินยอมดังกล่าวได้ แม้คงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีวิตได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทก็ตาม

ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว หาอาจนำ ป.วิ.พ.มาตรา 302 วรรคหนึ่ง(3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาท เป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่

พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้นเพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไปจนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะสิ้นไป โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แม้บางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลืออยู่ศูนย์บาท ก็ชอบด้วยกฎหมาย

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)