3216.สิทธิในการฟ้องทางแพ่งที่ไม่มีการฟ้องคดีอาญาใช้อายุความทางอาญาได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3938/2566 (เล่ม 10 หน้า 2458) โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น หลังจากนั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้รับผิดทางละเมิด เป็นกรณีที่ความรับผิดทางแพ่งมีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา คดีของโจทก์เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเห็นว่าเป็นความรับผิดทางแพ่ง ก็เป็นเพียงความเห็นในการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ไม่มีผลผูกพันให้ศาลต้องถือตาม เมื่อไม่มีผู้ใดฟ้องคดีทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมเป็นไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. เรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
ความผิดตาม ป.อ.มาตรา 341 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมีอายุความทางอาญาสิบปีตาม ป. อ.มาตรา 95(3) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด ต้องนำอายุความสิบปีมาใช้บังคับในกรณีที่ไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดเมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2561 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
(หมายเหตุ 1 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานร่วมกันฉ้อโกงและข้อหาอื่น และในการฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องประกอบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่โจทก์ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้
2 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า แม้จะไม่มีผู้ใดฟ้องคดีทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดก็เป็นไปตามกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. เรื่องอายุความ ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิดได้)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849