ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3575.ที่ดินของวัดผู้ใดจะเข้าไปยึดถือหรือโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2164/2567 (เล่ม 7 หน้า 1438) ตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งเข้ายึดถือหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์มาเป็นของตนโดยพลการ ภายหลังที่ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์แล้ว กระทรวงเกษตราธิการไม่อาจบังคับซื้อหรือเข้าไปยึดถือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ และมีผลทำให้จำเลยซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากกระทรวงเกษตราธิการไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปด้วย
ข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อวัดโจทก์สามารถนำสืบข้อเท็จจริง หักล้างข้อสันนิษฐานได้ว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์ไปรวมรังวัดในการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน เป็นการไม่ชอบ และมีผลทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงที่ถูกรวมอยู่ในโฉนดที่ดินแบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินแปลงต่างๆ เป็นการไม่ชอบด้วย จำต้องเพิกถอนการจดทะเบียนรวมและแบ่งแยกในนามเดิมเฉพาะที่ดินในส่วนที่รุกล้ำที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนได้เพราะที่ดินในส่วนนี้มิได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
(หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 1373 ป.วิ.พ.มาตรา 142 พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ส.121 มาตรา 7 คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มาตรา 41 คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849