รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

28 กรกฎาคม 2024
10120   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3335.หลักเกณฑ์การพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2566 (เล่ม 7 หน้า 34) ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ประการแรก ต้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และคดีก่อนต้องเป็นคดีอาญา ส่วนคดีหลังเป็นคดีแพ่ง ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาซึ่งศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือตามเป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับคดีส่วนแพ่ง และต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ประการที่ 3 ศาลในคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงไว้แน่นอน และคดีถึงที่สุด

คดีส่วนอาญาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดิน ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหาย จึงถือว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในคดีส่วนอาญามีประเด็นพิจารณาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว อันถือว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับคดีส่วนแพ่ง ทั้งในการพิจารณาและรับฟังข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีอย่างเต็มที่โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองนำพยานของฝ่ายตนเข้าสืบ อันเป็นการรับฟังพยานหลักฐาน ว่าใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน จึงวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและโดยชอบแล้ว และเมื่อคดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงจำต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา นอกจากนี้ คำพิพากษาถึงที่สุดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อในคดีส่วนอาญา ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้บุกรุกแย่งการครอบครอง จึงต้องถือตามคดีส่วนอาญาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นระยะเวลาที่ได้ล่วงพ้นเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความในเรื่องละเมิด รวมถึงระยะเวลาที่กล่าวอ้างว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ โดยมิได้ต่อสู้ว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะเลยระยะเวลา 1 ปี ที่ต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการถูกแย่งการครอบครองที่ดินนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง คำให้การของจำเลยทั้งสองหาได้ก่อให้เกิดประเด็นในเรื่องอายุความ การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองที่ดิน แต่อย่างใด)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849