รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

26 มีนาคม 2025
1094   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3573.อ้างว่าสัญญากู้ยืมเงินเกิดจากการฉ้อฉลต้องใช้สิทธิบอกล้างภายใน 1 ปี

คำพิพากษาฎีกาที่ 2701/2567 (เล่ม 7 หน้า 1484) สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่เกิดจากกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้จะต้องใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และ ที่3 ผู้ค้ำประกันซึ่งได้รับหนังสือแจ้งเตือนการผิดนัดของจำเลยที่ 1 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 แต่เพิ่งยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์รวมทั้งขอใช้สิทธิบอกล้าง นิติกรรมวันที่ 19 มีนาคม 2562 พ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 รู้และอาจให้สัตยาบันได้ ต้องถือว่านิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ ไม่อาจบอกล้างได้

ธนาคารโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ยืมด้วยการสั่งจ่ายเช็คให้แก่สหกรณ์บริการ จ. ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสหกรณ์บริการ จ. เมื่อสหกรณ์บริการ จ. ได้รับมอบเงินตามสัญญากู้ยืมแล้วได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมจากโจทก์บางส่วนนำไปเป็นทุนในการจัดซื้อรถสามล้อเครื่อง และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ โดยให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์อีกฉบับเป็นเงิน 345,000 บาท และสหกรณ์บริการ จ. จะเป็นผู้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เอง โดยโจทก์ทราบข้อตกลงด้วย ดังนี้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 345,000 บาท เมื่อสัญญากู้ยืมเงินเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมต่อกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง หนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์เพียงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้กู้ เพราะเป็นการชำระหนี้ อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจที่พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ขออนุญาตฎีกาได้ ตาม ป.วิ.ผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 501,364 บาท

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย ที่ 1 ชำระเงิน 501,364 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรับผิด

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกู้เงินและส่งมอบเงินที่ได้รับอนุมัติ โดยสั่งจ่ายเช็คให้แก่สหกรณ์บริการ จ. จำกัด เป็นผู้รับแทน นิติกรรมการกู้ยืมเงินและค้ำประกันดังกล่าวเกิดขึ้นจากการฉ้อฉล ของโจทก์ตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

4 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเหตุที่จะบอกล้างในวันที่มอบคดีให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาล

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 276,076 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระแทนพร้อมดอกเบี้ย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849