ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3241.โฆษณาเกินความจริงว่าผ่าตัดไร้รอยแผล ผู้รับบริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายต่อสภาพจิตใจได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3036/2566 (เล่ม 11 หน้า 2629) จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการ ฟ. ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการโครงการร่วมกัน และจำเลยที่ 1 มีฐานะร่วมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 ศัลยแพทย์ตกแต่ง ในการผ่าตัดศัลยกรรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ฟ. ด้วย ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ก่อขึ้น
รอยแผลใต้คางของโจทก์จางหายช้ากว่าปกติ เป็นเพราะไม่ได้รับการรักษาและไม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลแผลที่ถูกต้องจากจำเลยที่ 4 ตั้งแต่แรกที่เกิดผล ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานร่างกาย กับความเจ็บปวด แสบร้อนที่บริเวณแผลในช่วงที่แผลยังพุพอง นานกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งมีความทุกข์ทรมานจิตใจอยู่กับรอยแผลใต้คางตลอดเวลา จนรอยแผลจางหายไป การที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานร่างกายและจิตใจเช่นนี้มา ถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องอาจเป็นได้ทั้งละเมิดและผิดสัญญา แต่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนเรื่องผิดสัญญามิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และโจทก์ไม่ได้คัดค้าน เช่นนี้ต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำโฆษณาและคำรับรองของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษาและ ปรับปรุงความงาม เมื่อการโฆษณาและรับรองไม่ตรงกับความจริง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141(5) ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
แม้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งแจ้งถึงเรื่องความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นภายหลังการผ่าตัดให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์เพิ่งจะได้รับทราบข้อมูลก่อนการผ่าตัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง ประกอบกับตามหนังสือสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษาและปรับปรุงความงามที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำไว้ ระบุในข้อ 5 ว่า หากโจทก์ไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัดให้เงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด การที่โจทก์ทราบข้อมูลเรื่องแผลเป็นจากจำเลยที่ 4 ก่อนการผ่าตัดจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้ไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 โฆษณาเกินความจริงว่า ผ่าตัดไร้รอยแผล ย่อมทำให้โจทก์คาดหวังว่าหลังได้รับการผ่าตัดจะไม่มีแผลเป็นอยู่บนใบหน้าโจทก์ เมื่อปรากฏว่ามีแผลเป็นบริเวณใบหน้าโจทก์ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา ย่อมเกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจซึ่งเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 แม้โจทก์ไม่อาจนำสืบให้เห็นได้ว่า ความเสียหายนั้นคำนวณเป็นราคาเงินเท่าใด ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าเป็นการผ่าตัดไร้รอยแผล แม้จะเป็นการโฆษณาเกินความจริง แต่แผลเป็นหลังผ่าตัดก็ยังคงเหลืออยู่ที่ขมับ หลังใบหู และท้ายทอยของโจทก์ เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นตามปกติของการผ่าตัด อีกทั้งปรากฏว่าผลการผ่าตัด ทำให้ใบหน้าโจทก์เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ตรวจความเรียบร้อยของแผลให้โจทก์ในช่วงที่มีการนัดตัดไหม ทำให้แผลที่เกิดขึ้นใต้คางของโจทก์ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที และโจทก์ขาดโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำการดูแลแผลที่ถูกต้อง ก็มีผลเพียงทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ กรณียังไม่อาจรับฟังได้ว่า การกระทำที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภค ได้รับความเสียหายเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ศาลไม่อาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 วรรคหนึ่งได้
( หมายเหตุ 1 คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9,978,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 (ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1)
3 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
4 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849