ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3482.มารดาทำบันทึกสละมรดกของผู้เยาว์)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2567 ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 ให้อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ การสละมรดกของผู้เยาว์เป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น การที่โจทก์ทั้งสามสละมรดกที่ดินพิพาทโดย ส. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกตกลงสละมรดกของผู้ตายไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ ส. จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำบันทึกข้อตกลง ตามมาตรา 1574 (2) (4) ไม่ปรากฏว่า ส. ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำบันทึกข้อตกลงแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงที่ ส. ทำไว้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามไม่เป็นการสละมรดกที่ดินพิพาท
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตาย เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้สละมรดก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคาร ก. แล้วนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 3 จัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตามความต้องการ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการถือที่ดินพิพาทไว้แทน ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายจึงยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย
การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับ ป. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. หรือแก่บุคคลที่ ป. กำหนด โดยทายาทคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย และทำไปเพื่อต้องการให้ ป. ไปถอนฟ้องคดีอาญาจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอก เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาทเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะกระทำให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกได้ คงมีผลผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โดยปลอดจากภาระจำนองที่ดินทั้งแปลง เพราะการจำนองที่ดินพิพาทต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง
โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยยึดโยงจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านเลขที่ 262/1 อยู่บนที่ดินพิพาท ขณะฟ้องไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 1 นำบ้านดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่า เป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทเป็นก่อให้เกิดภาระติดพันบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาท ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามแสดงออกชัดว่า ไม่ยินยอมการให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทจึงขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายชอบที่จะใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดในส่วนของผู้ตายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายนั้นให้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดระยะเวลาให้ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252
(หมายเหตุ 1 โจทก์ทั้งสามบุตรเป็นของ ช. และ ส. โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของ ช.
2 จำเลยที่ 1 และ ช. เป็นบุตรของ ป. กับ จ. จำเลยที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของ ช. และมีบุตรด้วยกัน 6 คน จำเลยที่ 3 เป็นบุตรคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 และ ช.
3 ช. ถึงแก่ความตายวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ขณะถึงแก่ความตายมีที่ดินพิพาทโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้ เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ช. จึงตกเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของ ช. ต่อมาที่ดินแปลงนี้มีการขอออกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 190849
4 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
5 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้อง ส. เรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 2 กับ ช.ผู้ตาย เป็นทรัพย์มรดกให้ขับไล่ ส. ออกจากบ้านเลขที่ 262/1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนในประเด็นดังกล่าว
6 ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีดังกล่าว และคดีอยู่ในชั้นบังคับคดี วันที่ 17 สิงหาคม 2547 ส.ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงในชั้นบังคับคดี ตามบันทึกข้อตกลง ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า ส. ผิดข้อตกลงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกอุทธรณ์ของ ส. และเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับคดี
7 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาตามยอม ไม่มีผลผูกพันคู่ความ
8 วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ป. ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ผู้ตาย
9 วันที่ 9 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.ผู้ตายขายที่ดินพิพาทโฉนดตราจองเลขที่ 8026 ให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองต่อธนาคาร ก.
10 วันที่ 10 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 2 กับ ป. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีที่ ป. ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ผู้ตาย
11 วันที่ 15 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก.
12 วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำโฉนดตราจองที่ดินพิพาทขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 190849
13 วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกขอ ช.งผู้ตายแล้วตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ผู้ตาย
14 วันที่ 26 ธันวาคม 2549 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในข้อหาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล (ผู้จัดการมรดกของ ช.ผู้ตาย) ยักยอกทรัพย์มรดกของผู้ตาย
15 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352, 354
16 วันที่ 16 ตุลาคม 2550 ป. ถึงแก่ความตาย
17 วันที่ 13 มีนาคม 2551 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ป.
18 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 190849 ไว้ต่อธนาคาร ซ.
19 วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากธนาคาร ซ. เป็นเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และหากจำเลยทั้งสามไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนการขายและโอนที่ดินได้ก็ให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม กับให้กำจัดจำเลยทั้งสามมิให้มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
20 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การสละมรดกของผู้เยาว์เป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพยสินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น ส. จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำบันทึกข้อตกลง
21 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายโดยนำเงินไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อนำเข้ากองมรดกของ ช. ผู้ตายดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกต่อไป นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กรกฎาคม 2559) เป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849