รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

24 สิงหาคม 2024
8455   0

Lawyer Council Online Share

3362.ประวิงการขายทอดตลาดต้องใช้ค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2566 (เล่ม 9 หน้า 141) แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานที่ทำการใหม่ คือ เลขที่ 124 ซึ่งเป็น บ้านพักอาศัยของกรรมการและที่ตั้งของผู้ร้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่ในคำร้องดังกล่าวผู้ร้องระบุอ้างแต่เพียงว่า มี เหตุขัดข้องได้การแจ้งให้ผู้ร้องทราบผลคดี ทำให้ทราบในระยะเวลากระชั้นชิดเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะให้ที่อยู่ที่แจ้ง มาเป็นภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานแต่เพียงแห่งเดียวของผู้ร้องแต่อย่างใด กรณีจึงยังต้องถือว่าอาคารเลขที่ 13/47 เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของผู้ร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 69 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 ดังกล่าว โดยวิธีปิดหมายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐาน เบื้องต้นแสดงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกัน เพื่อประกันความเสียหาย ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) แต่ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งๆที่คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งที่สุดแล้ว ศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ ครั้งที่ 2 นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขยายระยะเวลาวางเงินออกไปและไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้า โดยไม่มีมูล มีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้องได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายผู้ร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอ้างว่าการกระทำของผู้ร้องเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะผู้ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยไม่มีมูลและประวิงคดี โจทก์ต้องจ้างทนายความและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 255,809 บาท คิดค่าเสียหายโดยให้ผู้ร้องชดใช้เป็นดอกเบี้ยผิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินประมาณ 13 ล้านบาทเศษ

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หากได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราเท่าใด อย่างไร จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนตัวนี้ให้โจทก์ 10 ล้านบาท

3 ส่วนค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมดอกเบี้ยนั้น โจทก์นำสืบใบเสร็จรับจ่ายเงินแต่บางรายการเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมารวม จึงควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 1 แสนบาท และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849