รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

24 กรกฎาคม 2024
10161   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3331.ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชนะคดี แต่วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยสามารถคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคำแก้อุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2566 (เล่ม 8 หน้า 24) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาจำต้องอุทธรณ์ประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งชนะคดีในศาลชั้นต้นย่อมคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคำแก้อุทธรณ์สำหรับประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นนั้นได้ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ทั้งปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ก็ตาม แต่คำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในประเด็นนี้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษาข้าวสารว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้อย่างนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งยกประเด็นดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 เช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ซื้อข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เก็บในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จากองค์การคลังสินค้าซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาฝากเก็บข้าวสารกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ชำระราคาข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 งวดแรกให้องค์การคลังสินค้าแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่โจทก์ซื้อจากโครงการคลังสินค้าเป็นข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ เพียง 54,734 กระสอบ ข้าวปลอมปน 215,359 กระสอบ ข้าวเจ้า 121,500 กระสอบ และข้าวเปียกน้ำ 1,540 กระสอบ การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเกี่ยวกับ การผิดสัญญาฝากเก็บข้าวสารและลักษณะละเมิดอันเนื่องมาจากการติดสัญญาดังกล่าวเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่โจทก์ซื้อจากองค์การคลังสินค้าและเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 มีการปลอมปน ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงครบถ้วนตามภาระการพิสูจน์แล้วว่า ความเสียหายเกิดขึ้นแก่ข้าวสารขณะอยู่ในความครอบครองและเก็บรักษาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เพราะถือว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดว่า “…..ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด …..”กล่าวคือ นอกจากจะคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำละเมิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำละเมิดประกอบด้วย เมื่อโจทก์บรรยายถึงเรื่องค่าเสียหายในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องไว้แล้ว แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือฎีกาในเรื่องจำนวนค่าเสียหาย ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ว่าควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดหรือไม่

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849