รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

24 มีนาคม 2024
18925   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3209.ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้แก่ลูกหนี้ตามสัญญาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2566 (เล่ม 3 หน้า 96) หนังสือบอกกล่าวทวงถามและซองจดหมายที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 2 พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือไปส่งยังบ้าน ซึ่งเป็นที่อยู่ตามที่ระบุในสัญญาค้ำประกันและเป็นที่อยู่ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจำเลยที่ 2 ท้ายคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ซึ่งแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรนี้ระบุว่า จำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว บันทึกเพิ่มเติมระบุว่า บุคคลนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านนี้ แม้พนักงานไปรษณีย์จะระบุเหตุขัดข้องการที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้ว่า ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ แต่เมื่อเป็นการส่งอย่างเป็นทางการไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยแจ้งย้ายที่อยู่ให้ธนาคาร อ.ทราบมาก่อนตามที่กำหนดในสัญญาค้ำประกัน ข้อ 10 ที่ว่า ถ้าผู้ค้ำประกันย้ายที่อยู่ไปจากภูมิลำเนาตามที่ระบุในสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันมีหน้าที่แจ้งให้ธนาคารทราบทันที หากไม่แจ้งผู้ค้ำประกันตกลงรับผิดในความเสียหายที่ธนาคารได้รับอีกส่วนหนึ่งด้วย จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 หลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามของโจทก์ ถือว่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ 2 แล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 169

จำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก่อนที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงไม่ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ดังนั้นธนาคาร อ. จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่นี้ ซึ่งมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่โจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงวันที่ 21 เมษายน 2563 ไปยังจำเลยที่ 2 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน ตามมาตรา 686 วรรคสอง กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)