ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3452.ถอนฟ้องแล้วนำมาฟ้องใหม่ไม่ทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2567 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครสวรรค์เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2097/2563 ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่ง ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ ภายหลังโจทก์ขอถอนฟ้องเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ศาลแขวงนครสวรรค์มีคำสั่งอนุญาต และหลังจากนั้น 6 วัน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ การถอนฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ที่จะพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แม้ศาลแขวงนครสวรรค์อาจปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาคดี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ และเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้อง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแขวงนครสวรรค์ และการจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
แม้คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่คดีส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง
(หมายเหตุ 1 คดีนี้จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแขวงนครสวรรค์ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่ความผิดดังกล่าวมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์รวมอยู่ด้วย ศาลแขวงนครสวรรค์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาการถอนฟ้องต่อศาลแขวงนครสวรรค์แล้วนำคดีมาฟ้องใหม่ต่อศาลชั้นต้นในความผิดเดียวกัน การกระทำครั้งเดียวของจำเลยเป็นผลให้จำเลยต้องถูกดำเนินคดีหลายครั้งไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
2. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
3. จำเลยฎีกาว่า คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีส่วนแพ่งของโจทก์เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849