ข่าวกิจกรรม » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

18 พฤศจิกายน 2024
2550   0

Lawyer Council Online Share

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3447.สหกรณ์สั่งจ่ายเช็คคืนเงินให้แก่สมาชิก ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สหกรณ์ไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730/2565 (เล่ม 12 หน้า 85) จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาในการกระทำความผิดผ่านทางจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลตาม ป.พ.พ.มาตรา 70 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการสหกรณ์ และจำเลยที่ 3 เลขานุการร่วมกันลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกเช็คของจำเลยที่ 1 โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ด้วยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง

( หมายเหตุ 1 โจทก์เป็นสมาชิกและผู้ถือหุ้นของสหกรณ์จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562

2 ในวันเดียวกันนั้น โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปฝากเรียกเก็บเงินที่ธนาคาร ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โจทก์ไปติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบเช็ค ได้รับแจ้งจากพนักงานธนาคารว่าได้คืนเช็คให้จำเลยที่ 2 ไป

3 โจทก์จึงเดินทางไปที่สหกรณ์จำเลยที่ 1 เพื่อขอรับเช็คคืน จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นภายในสหกรณ์จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งทราบข้อเท็จจริงในวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอชำระหนี้เงินฝากเช็คให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ยืนยันว่าต้องการจะรับเช็คกลับคืน จำเลยที่ 2 จึงส่งมอบเช็คคืนให้แก่โจทก์

4 วันที่ 11 กันยายน 2562 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้

5 จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์โดยเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีมากพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบสถานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผ่านการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 โดยการรายงานข้อมูลและการจัดทำ เอกสารทางการเงินจากผู้จัดการสหกรณ์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

6 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง

7 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849