ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3356.บันทึกข้อตกลงแบ่งทางพิพาทเป็นทางสาธารณะประโยชน์ ไม่ทำให้ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5163/2566 ผ. และ ม. เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1625 ได้ยกทางพิพาทให้ทายาทซึ่งเป็นบุตรทั้งแปดคนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ก่อนปี 2534 กับทั้งแบ่งที่ดินให้ทายาทครอบครองและสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อ ผ. และ ม. ถึงแก่ความตาย ทายาทก็ได้รับโอนมรดกที่ดินมาครอบครองเป็นของตน โดยยังคงใช้ทางพิพาทในการเข้าออกที่ดินตลอดมา ต่อมาทายาทแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดรวม 9 แปลง โดยมีการรังวัดทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกเดิมไว้ชัดเจน ทายาททั้งแปดซึ่งรวมถึงโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ก็ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำกรณีประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิม หลังจากนั้นทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดจากเดิมที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาก็ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอรังวัดสอบเขต และขอแบ่งทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่รับรู้ว่าไม่มีทางพิพาท มีเพียงจำเลยที่ 4 ที่โต้แย้งเฉพาะเรื่องแนวเขตทางพิพาทเท่านั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขอให้รอการรังวัดแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ไว้ก่อน การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตน จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะทางภาระจำยอม การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ นับถึงวันฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับทายาทที่ครอบครองที่ดินที่ ผ. และ ม. ยกไว้ให้ก่อนที่ทายาทจะได้รับโอนมรดกมาเป็นของตน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็น 9 แปลง ก็ได้มีการแบ่งแนวเขตทางพิพาทไว้ชัดเจน การที่ทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างกันโดยมีการระบุทางพิพาทมาตั้งแต่ต้นย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอื่นตามที่มีการแบ่งแยกไว้ ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินและทางพิพาทต่อมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง จึงมีภาระที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น
(หมายเหตุ 1 เดิมทางพิพาทจะอยู่ในที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทายาททุกคนมาตั้งแต่ที่ได้รับโอนมรดกมาจาก ผ.และ ม.
2 ต่อมาได้มีการออกโฉนดที่ดินโดยแบ่งแยกออกเป็น 9 แปลง ซึ่งทายาททุกคนก็ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันทั้ง 9 แปลง การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตนดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะของทางภาระจำยอม
3 ปี 2561 ได้มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ทายาทแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันดังกล่าว นับถึงวันฟ้องมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ
4 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขอหักแบ่งทางพิพาทดังกล่าวออกจากที่ดินของจำเลยที่ 2 ย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงเจตนาดั่งเดิมที่จะให้ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของผู้อื่น ไม่ว่าจะให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือทางภาระจำยอมก็ตาม มิได้ทำให้ข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมระหว่างทายาทเรื่องทางพิพาทเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทางพิพาทดังกล่าวได้มีข้อตกลงของทายาทที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันให้มีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นทางภาระจำยอมแล้ว ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม
5 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
6 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนทางพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 อันเป็นภารยทรัพย์ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 38415 ถึง 38423 ซึ่งรวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ด้วย
7 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ตามรูปแผนที่ที่แบ่งแยกซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้จำลองไว้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 เป็นภาระจำยอมให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 38415 และ 38417 ถึง 38423)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849