ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3354.อายุความฟ้องคดีมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2566 ป.พ.พ. มาตรา 1754 การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เว้นแต่กรณีตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งระหว่างทายาท คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 4 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงต้องรับฟังว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 เป็นทรัพย์มรดกของ ผ. ที่ยังมิได้แบ่งปันระหว่างทายาท โจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปัน ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทั้งมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นคู่ความร่วม โจทก์ทั้งห้าจึงสามารถฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ แม้จะเกิน 10 ปี นับแต่ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้โจทก์ทั้งห้าสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของ ผ. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นทายาทด้วยกัน จึงต้องดำเนินคดีภายใน 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อ ผ. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ทั้งห้าสำหรับการฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 245037 จึงขาดอายุความ ทั้งกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ผ. แล้วหรือไม่ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ผ. 2 ใน 3 ส่วน ซึ่งเกินกว่าที่โจทก์ทั้งห้าขอมาเพียงกึ่งหนึ่งนั้นเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือไม่ แม้ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลย แม้จะอ้างว่าทรัพย์มรดกมีเพียงครึ่งหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ทรัพย์มรดกมีจำนวน 2 ใน 3 ส่วน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์มรดกมี 2 ใน 3 ส่วน แล้วแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทตามสิทธิที่มีอยู่นั้น จึงหาเกินคำขอไม่
(หมายเหตุ 1 ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน ทายาทย่อมฟ้องขอให้แบ่งปันได้แม้จะล่วงเลย 10 ปีแล้วก็ตาม
2 ส่วนทรัพย์มรดกที่มีการแบ่งปันแล้ว จะต้องฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกภายใน 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วแต่กรณี)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849