รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

16 มกราคม 2025
934   0

Lawyer Council Online Share

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3505.ใช้สำเนาคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกปลอมเบิกถอนเงินจากธนาคาร ธนาคารต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2566 จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องตรวจสอบความถูกต้องและใช้ความระมัดระวังในการเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบกิจการธนาคาร เมื่อสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเอกสารปลอมมีการจัดเรียงผิดย่อหน้าผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบคำสั่งศาล และมีข้อความที่พิมพ์ตกหล่นหลายแห่งเป็นพิรุธ ทั้งจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากที่ขอเบิกถอนมากกว่าล้านบาท เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินและระเบียบปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการตรวจสอบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นสำเนาคำสั่งที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกถอนเงิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวก่อนได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นมิได้กระทำ โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปทันที ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จึงเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์

(หมายเหตุ ระเบียบปฏิบัติงานของธนาคาร ข้อ 6.1.1 มีข้อความว่า กรณีผู้จัดการมรดก ทายาทของเจ้าของบัญชีที่ถึงแก่กรรมมาติดต่อขอถอนเงินเพื่อปิดบัญชีเงินฝาก ให้สาขาเจ้าของบัญชีตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน อันรวมถึงคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือสำเนาคำสั่งที่มีการรับรองสำเนาโดยเจ้าหน้าที่ศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ก่อนดำเนินการถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวนั้น มีความหมายชัดเจนว่าพนักงานของจำเลยที่ 2 ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทของเจ้าของบัญชีนำมาแสดงว่าถูกต้องหรือไม่ หากเป็นสำเนาเอกสารก็ต้องตรวจสอบว่าถูกต้องตรงกับเอกสารที่แท้จริง มิใช่เพียงตรวจสอบว่าเป็นประเภทเอกสารหรือมีจำนวนเอกสารครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในระเบียบปฏิบัติงานเท่านั้น

3 ในทางนำสืบธนาคารอ้างว่า สำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกที่จำเลยที่ 1 นำมาแสดงในวันดังกล่าวมีตราประทับของศาล และยังมีหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดมาแสดงด้วย

4 แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื้อหาของคำสั่งโดยเฉพาะหน้าสุดท้ายบรรทัดที่ 9 และที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายในส่วนคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ระบุว่า …ให้ตั้งนาย ณ. ผู้ร้องเป็นผู้จัดการของผู้ตาย… ซึ่งตกคำว่า “มรดก” ระหว่างคำว่า “ผู้จัดการ” กับ “ของผู้ตาย” อันเป็นส่วนสำคัญของคำสั่งศาลในการตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงเป็นพิรุธ

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849