รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

14 เมษายน 2024
15807   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3230.ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2565 (เล่ม 10 หน้า 140) จำเลยที่ 2 ฏีกาว่า จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในความผิดข้อหาร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในชั้นฎีกานั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจจะทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงรับจำนำ โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

ความผิดข้อหาร่วมกันยักยอก ตาม ป. อ. มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะนำความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำความผิดย่อมเป็นอันระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้แม้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีในความผิดข้อหาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไป และการที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งสำหรับความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย แม้จำเลยที่ 2 มิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การถอนคำร้องทุกข์ ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล

2 จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการกระทำความผิดที่อุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และเป็นการประกอบอาชีพบนความเดือดร้อนของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุผลประการอื่น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849