ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3290.ลักทรัพย์คนในครอบครัวเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4925/2566 ป.อ. มาตรา 71 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับบุคคลที่กระทำความผิดและผู้ถูกกระทำที่มีความสัมพันธ์กันในครอบครัวทางสายโลหิตโดยตรง เมื่อมีการกระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานเกิดขึ้นในครอบครัว กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
(หมายเหตุ 1 จำเลยเป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของโจทก์กับ ป.
2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี
3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
4 จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์แก้ฎีกาให้เหตุผลโต้แย้งว่า ป.อ. มาตรา 71 วรรคสอง เป็นเพียงเหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัวเนื่องจากความเป็นญาติ ไม่ได้หมายความว่าความผิดฐานลักทรัพย์จะเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจนแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และความผิดฐานยักยอก โจทก์จึงไม่ต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน
5 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากแปลกฎหมายอย่างที่โจทก์แก้ฎีกาจะขัดกันเองอย่างเห็นได้ชัด เพราะความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และความผิดฐานยักยอก มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งหากไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เหตุใดเมื่อนำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 71 วรรคสอง ให้ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐานเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงจะไม่ต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เหตุผลตามคำแก้ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
6 และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849