รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

12 พฤศจิกายน 2024
3311   0

Lawyer Council Online Share

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3442.ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1722

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2567 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 ที่ว่าผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะอนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลแล้วยังเป็นหนึ่งในทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ส. การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. ให้แก่ตนเองเป็นส่วนตัวในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทหรือได้รับอนุญาตจากศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 อันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

(หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2519 ส.เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยมีทายาททั้งหมด 10 คน ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีนี้ เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยมี ส.เจ้ามรดกและโจทก์ที่ 7 ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน

2 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส.

3 วันที่ 4 มกราคม 2555 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1

4 วันที่ 12 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน หลังจากจำเลยทั้งสองครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ไม่มีทายาทคนใดโต้แย้งคัดค้านเลย

5 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 โจทก์ที่ 7 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท

6 โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว กับให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

7 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า นิติกรรมการโอนที่ดินมรดกเฉพาะส่วนของที่ดินพิพาทซึ่งทำเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 และนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ให้เพิกถอนเฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 คิดเป็น 6 ส่วน จาก 11 ส่วน

8 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท

9 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อทายาททุกคนต่างรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของ ส. แล้วจำเลยที่ 1 นำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 หลังจากนั้นอีกกว่า 3 ปี จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำใดที่ไม่สุจริต แล้วหลังจากจำเลยทั้งสองครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยไม่มีทายาทคนใดโต้แย้งคัดค้านเลยว่าจำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์มรดกไปโดยไม่ชอบ จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ขายสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของแต่ละคนให้แก่จำเลยทั้งสองและได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว

10 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเสียทั้งหมด)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849