ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3440.โอนเงินเพิ่มเติมหลังจากทำสัญญากู้ ฟ้องเรียกเงินในส่วนที่เพิ่มเติมไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1263/2567 ตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมีความผูกพันเป็นพิเศษอย่างไรนอกเหนือจากที่เคยให้กู้ยืมเงินกันมาก่อน การที่หลังจากให้จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556 ต่อมาเดือนตุลาคม 2556 จำเลยขอให้โจทก์โอนเงินมาให้อีก 1,500,000 บาท และโจทก์เห็นว่าได้ยึดถือโฉนดที่ดินของจำเลยไว้แล้ว จึงโอนเงินไปให้โดยไม่ได้ทำหลักฐานอื่นใดเพิ่มเติมนั้น บ่งชี้ว่าเป็นการให้จำเลยกู้ยืมเงินอีกดังที่ศาลล่างวินิจฉัย ส่วนที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าการโอนเงินให้แก่กันไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นการโอนเงินที่สามารถเรียกคืนได้ตามกฎหมายนั้น การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปรากฎว่าจำเลยจะต้องคืนเฉพาะเงินเหรียญหรือธนบัตรในลักษณะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเท่านั้น เมื่อโจทก์โอนเงินกู้ให้แก่จำเลยไป กรรมสิทธิ์ในเงินกู้ย่อมตกแก่จำเลย ฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่การใช้ทรัพยสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน แต่เป็นการใช้บุคคลสิทธิเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เมื่อโจทก์ยังมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เพราะจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจำนวนนี้ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญมานำสืบตามกฎหมาย จึงฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินกู้ไม่ได้ ซึ่งรวมถึงการห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย เมื่อหนี้ที่โจทก์อ้างเป็นมูลฟ้องร้องและยึดถือโฉนดไว้เป็นหนี้เงินกู้ที่ฟ้องร้องบังคับไม่ได้ตามกฎหมาย ส่วนหนี้เงินกู้ 1,800,000 บาท โจทก์ก็รับว่าจำเลยชำระหนี้ให้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 59782 ของจำเลยไว้ต่อไป
(หมายเหตุ 1.เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1,800,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 59782 ให้ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยชำระเงินกู้จำนวนนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยังไม่คืนโฉนดที่ดินให้จำเลย
2 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 จำเลยขอให้โจทก์โอนเงินมาให้อีก 1,500,000 บาท โจทก์เห็นว่าได้ยึดถือโฉนดที่ดินของจำเลยไว้แล้วจึงโอนเงินไปให้โดยไม่ได้ทำหลักฐานอื่นใดเพิ่มเติมไปยังบัญชีธนาคาร ก
3 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์
4 โจทก์ฎีกาว่า การโอนเงินให้แก่กันไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นการโอนเงินที่สามารถเรียกคืนได้ตามกฎหมายนั้น
5 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยจะต้องคืนเฉพาะเงินเหรียญหรือธนบัตรในลักษณะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเท่านั้น เมื่อโจทก์โอนเงินกู้ให้แก่จำเลยไป กรรมสิทธิ์ในเงินกู้ย่อมตกแก่จำเลย ฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่การใช้ทรัพยสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน แต่เป็นการใช้บุคคลสิทธิเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849