รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

9 พฤษภาคม 2025
89   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3617.ธนาคารไม่งดการบังคับคดีตามบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการกระทำละเมิดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2567 การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดี และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ย่อมต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไป เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายอันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไป จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง

เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองกับธนาคาร อ. และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าวและต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด

ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขาย หรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 เดิม ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยจึงดำเนินการบังคับคดีด้วยการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ออกขายทอดตลาด และได้ประกาศขายทอดตลาดนัดแรกในวันที่ 29 มิถุนายน 2560

2 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดไว้มีภาระจำนองธนาคาร อ. ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เป็นเงิน 307,132.46 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขายโดยจำนองติดไป

3 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 อันเป็นเวลาก่อนประกาศขายทอดตลาดนัดแรก โจทก์และจำเลยได้ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยตกลงกันให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าเบี้ยประกันภัยค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่จำเลยในวันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้เรื่อยมา

4 ส่วนการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวนั้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าขอให้งดการบังคับคดีไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปตามนัด และนาง ล. เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 650,000 บาท

5 ในทางนำสืบ โจทก์เบิกความประกอบสำเนาหนังสือว่า เจ้าหน้าที่ประจำสาขาองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (จตุจักร) ได้แจ้งผลการตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยให้ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารสำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานเขตจตุจักรทราบ กับขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ด้วย

6 นาย อ.พนักงานของจำเลยเบิกความว่า โจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว

7 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,981,376 บาท พร้อมดอกเบี้ย

8 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,481,376 บาท พร้อมดอกเบี้ย

9 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,832,111.54 บาท พร้อมดอกเบี้ย)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 438 วรรคสอง ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5), 289 (3), 288 (1) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 7, 42)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849