ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3224.การทำคำให้การคดีที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4232-4233/2565 (เล่ม10 หน้า 89) การแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 วรรคสอง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของ ส. บิดาจำเลยทั้งสอง ต่อมา ส. แสดงเจตนาสละการครอบครองพร้อมกับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งหมดรวมถึงจำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงโดยไม่มีบุคคลใดมาโต้แย้งสิทธิ หรือรบกวนการครอบครอง อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น มิได้ให้การยอมรับว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าแย่งการครอบครองมาจากผู้ใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง มาจากผู้ใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
สำนวนแรก โจทก์บรรยายฟ้องว่า ขณะที่โจทก์เข้าตรวจสอบที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาท เป็นของ ส.บิดาจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ตั้งแต่ ส.ยังไม่ถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบัน เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 กับพวกขับไล่คนงานของโจทก์ไม่ให้เข้าไปในที่ดินพิพาท อันเป็นการรบกวน การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับเรียกค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะยุติการเข้ามาเกี่ยวข้องรบกวนสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์ แต่สำนวนหลัง โจทก์กล่าวอ้างว่าเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2559 (ภายหลังจากยื่นฟ้องสำนวนแรก) จำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วยการเข้าถากถางแล้วปลูกพืชต่างๆ ในที่ดิน ซึ่งเป็นการบุกรุกเพื่อแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท ตามฟ้องแต่อย่างใด ทำให้โจทก์ไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาในสำนวนหลังเป็นการกล่าวอ้างถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจฟ้องหรือเรียกร้องมาในขณะยื่นฟ้องสำนวนแรก จึงมิใช่คำฟ้องเรื่องเดียวกันของโจทก์ในสำนวนหลัง จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง(1)
(หมายเหตุ 1 จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น คดีจึงมิได้มีประเด็นว่า จำเลยแย่งการครอบครอง
2 การแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 วรรคสอง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849