รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

7 เมษายน 2024
18357   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3223.ทำพินัยกรรมปลอม ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2565 (เล่ม 10 หน้า 116) โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ จ. เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตาย ส่วนบิดามารดา สามี และบุตรของ จ. ได้ถึงแก่ความตายไปก่อน จ.แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ จ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. ขึ้นทั้งฉบับ โดยจัดพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมว่า จ. ยกที่ดินพร้อมบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จัดให้ จ. ซึ่งขณะนั้นมีอาการของโรคสมองเสื่อม ไม่สามารถจดจำบุคคลรอบข้าง พูดคุยไม่รู้เรื่อง และไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้ทำพินัยกรรม พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า จ. ไม่รู้ถึงสาระสำคัญของการกระทำตนเองในการพิมพ์ลายนิ้วมือลงบนเอกสารดังกล่าว ถือไม่ได้ว่า จ. มีเจตนาทำพินัยกรรม พินัยกรรมที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจัดทำขึ้นย่อมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด

นอกจาก จ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำปลอมขึ้นซึ่งพินัยกรรมฉบับนี้ จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมพินัยกรรมอันเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 265 แล้ว โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ก็ถือ เป็นผู้เสียหายอีกคนหนึ่งด้วย เพราะหากพินัยกรรมปลอมฉบับนี้ถูกยกขึ้นกล่าวอ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้โจทก์ซึ่งเป็นแต่เพียงทายาทโดยธรรมมิใช่ทายาทตามพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ในส่วนที่เป็นที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกำหนดไว้ในพินัยกรรมตามที่ควรจะได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในการรับมรดกของ จ. อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องด้วยบทนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) แล้ว สิทธิในความเป็นผู้เสียหายของโจทก์จึงแยกต่างหากจาก จ. และไม่ใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของ จ. แต่ลำพังเพียงผู้เดียว กรณีจึงไม่จำเป็นที่ จ. จะต้องยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาเสียก่อน แล้วต่อมาถึงแก่ความตาย โจทก์จึงค่อยเข้ามาดำเนินคดีต่างผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 การใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์เป็นผู้ที่ต้องได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปลอมพินัยกรรมของ จ. อันเป็นการใช้สิทธิโดยลำพังของโจทก์เองในฐานะผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 28

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)