รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

6 เมษายน 2024
17852   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3222.ฟ้องหย่าโดยคู่กรณีมิใช่คนสัญชาติไทย ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่นำสืบว่ากฎหมายของประเทศคู่กรณีให้หย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2566 (เล่ม 4 หน้า 102) การหย่าระหว่างโจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษในประเทศไทยนั้นมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศอันตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 โดย พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 มีความหมายว่า ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติอื่นหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนสัญชาติอื่น แต่มาฟ้องหย่าในประเทศไทย ศาลไทยจะพิพากษาให้หย่ากันได้ต่อเมื่อกฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้ ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความก่อนว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นสัญชาติของจำเลยมีบทบัญญัติให้บุคคลที่มีสัญชาติอังกฤษสามารถหย่าหรือฟ้องหย่ากันได้ ศาลจึงจะพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมายไทยอันเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่าต่อไป ดังนั้นข้อที่ว่ากฎหมายแห่งประเทศอังกฤษอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติอังกฤษหย่าได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญที่ศาลต้องพิจารณาเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ากฎหมายอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยผู้เป็นสามียินยอมให้หย่าได้ และมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายไทยซึ่งเป็นกฎหมายสัญชาติของโจทก์ผู้เป็นภริยาและเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลไทยจึงไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ หรือจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182

( หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว

2 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนฟ้องหย่า

3 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่ากฎหมายประเทศอังกฤษห้ามมิให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว จึงไม่ต้องนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 มาใช้บังคับ

4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัย กฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ และมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นโดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849