รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

4 มกราคม 2024
19377   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
3129.ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในห้องโถงที่มีผู้เสียหายอยู่ เป็นเจตนาเล็งเห็นผล
คำพิพากษาฎีกาที่ 1092/2566 (หน้า 1738 เล่ม 8) จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงเข้าไปในห้องโถงของบ้านที่เกิดเหตุซึ่งมีความกว้างเพียง 3.5 เมตร ขณะผู้เสียหายทั้งเจ็ดอยู่รวมกันภายในห้องโถงและยิงติดต่อกันถึง 3 นัด ในลักษณะขนานกับพื้นในระดับหน้าอกของบุคคลทั่วไป แม้จำเลยมิได้ใช้อาวุธปืนจ้องเล็งและยิงไปที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดก็ตาม จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายทั้งเจ็ดถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดโดยเล็งเห็นผล เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายทั้งเจ็ด เนื่องจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดหลบหนีได้ทัน จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ข้อก็เท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดต่างวิ่งหลบหนีได้ทัน กระสุนปืนจึงไม่ถูกผู้ใด แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งยืนรวมกันภายในบ้านในระยะใกล้มองเห็นได้ชัด เจนเพราะเป็นประตูกระจก โดยผู้เสียหายทั้งเจ็ดยืนมองดูการกระทำของจำเลยไม่ได้หลบหนี แตกต่างจากคำบรรยายฟ้อง แต่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดว่าขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหายทั้งเจ็ด ผู้เสียหายทั้งเจ็ดต่างวิ่งหลบหนีหรือกำลังยืนรวมตัวกันอยู่ภายในบ้าน ซึ่งไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
(หมายเหตุ 1 คดีนี้ มีประเด็นที่จำเลยยื่นฎีกาว่า ในวันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้เสียหายทั้ง เจ็ด แต่ไม่มีพยานผู้ใดให้การว่า จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องเล็งยิงไปยังกลุ่มผู้เสียหายทั้งเจ็ดในระยะใกล้แต่อย่างใด ต่อมา เป็นระยะเวลาอีก 2 เดือน พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้การเพิ่มเติมเหมือนกันว่า จำเลยใช้อาวุธปืนจ้องเล็งยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหายทั้งเจ็ด จึงเป็นพิรุธว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมผู้เสียหายทั้งเจ็ดเป็นการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยไม่ชอบ
2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้การสอบสวนเพิ่มเติมผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะกระทำในวันเดียวกัน มีคำถามและคำตอบเหมือนกัน เนื่องจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดต่างอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันและเห็นเหตุการณ์เหมือนกัน จึงให้การเพิ่มเติมรายละเอียดคำให้การที่เกิดขึ้นถูกต้องตรงกัน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย)
(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)