ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3462.ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกา โดยจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาต
คำพิพากษาฎีกาที่ 518/2567 (เล่ม 1 หน้า 187) (ประชุมใหญ่) ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะคดีส่วนแพ่งที่ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นว่าให้จำเลย ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และแก่โจทก์ร่วมที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีส่วนอาญายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจฎีกาและสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงในคำฟ้องฎีกา และรับฎีกาของจำเลยได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงมาด้วยก็ตาม เพราะถือเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของผู้พิพากษาที่สั่งอนุญาต การที่ผู้พิพากษาดังกล่าวตรวจฎีกาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ต้องตามเจตนารมณ์ ป.วิ.อ. มาตรา 221 แล้ว
ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดด้วย แม้ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ห. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และเด็กหญิง น. ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายและไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ก็ตาม แต่บุคคลทั้งสองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย จึงเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้ง สิทธิในทางแพ่งและมีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้อง คำนึงว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ส่วนจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้มากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้พิจารณาว่าความเสียหายนั้น ได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849