รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3 กันยายน 2024
1033   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3372.อายัดเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4468/2566 ถึงแม้ว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อขออายัดเงินเดือน เงินค่าจ้าง เงินโบนัส เงินตอบแทนการทำงานเป็นครั้งคราวและเงินตอบแทนกรณีออกจากงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเพียงเฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับในแต่ละเดือนเท่านั้น ส่วนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จากเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินช่วยเหลือพิเศษยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากนายจ้างของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 แม้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือขออายัดเงินดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในขณะนั้น นายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี นายจ้างของจำเลยที่ 1 เพิ่งเลิกกิจการเมื่อปี 2563 จึงทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินช่วยเหลือพิเศษ จึงถือว่ายังไม่มีการบังคับคดีในเงินส่วนนี้ ดังนั้นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จะต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่เคยมีคำสั่งอายัดไว้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิที่จำเลยที่ 1 จะได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 (3) (4) ที่แก้ไขโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ที่ใช้อยู่ในเวลาที่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ระบุไว้ว่า เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี… (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน เดือนละ 20,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร (4) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (3) เป็นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีการประเมินตามจำนวนที่เห็นสมควรตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เนื่องจากขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการในส่วนนี้ จึงต้องใช้จำนวนไม่เกิน 300,000 บาท ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 302 (4) ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่มีการเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินช่วยเหลือพิเศษที่จำเลยที่ 1 ได้รับรวมกันแล้วไม่เกิน 300,000 บาท จึงเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 (4) ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ไม่อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินช่วยเหลือพิเศษ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อนายจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ นายจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849