ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3096.สัญญาฝากเงินตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ระหว่างผู้ตายกับธนาคารมีผลใช้บังคับ แม้ธนาคารยังไม่ได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1879/2566 (หน้า 1246 เล่ม 5) (ประชุมใหญ่) สัญญาฝากเงินตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ ระหว่างผู้ตายกับจำเลยเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตให้แก่ผู้ตายด้วยอยู่ในตัว เมื่อผู้ตายมีคุณสมบัติเฉพาะตัวตามหลักเกณฑ์แห่งคำโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ของจำเลยและนำเงินไปฝากตามจำนวน ที่จำเลยกำหนด โดยธนาคารจำเลยยอมรับใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์พร้อมเงินฝากของผู้ตายไว้เช่นนี้ สัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตย่อมเกิดขึ้นตามเจตนาของคู่สัญญาแล้ว จำเลยต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามกรมธรรม์ที่ตนโฆษณาไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 ทั้งการตีความยึดถือความเข้าใจของผู้บริโภคซึ่งเป็นวิญญูชนและมิได้เป็นผู้โฆษณาข้อความเช่นนั้นเป็นสำคัญยิ่งกว่าการตีความตามความมุ่งหมายของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้เขียนคำโฆษณา ประกอบกับอาจมีกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องตีความไปในทางให้สัญญามีผลบังคับซึ่งเป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียในมูลหนี้นั้น เพราะหากมีความจนสัญญาไม่มีผล ผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายเสียไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นตาม ป.พ.พ.มาตรา 11 ผู้ตายถึงแก่ความตายภายหลังจากสัญญาฝากทรัพย์ที่มีความคุ้มครองประกันชีวิตเกิดขึ้นและมีผลบังคับ เช่นนี้ จำเลยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ตายตามผลประโยชน์ที่ควรได้รับในกรมธรรม์อันเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณาของจำเลยได้ ทั้งจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะปฏิเสธความคุ้มครองให้แก่ผู้ตายตามกรมธรรม์ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ไม่อาจอ้างว่าสำนักงานสาขาจำเลยที่รับใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ซึ่งเป็นคำเสนอไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ แต่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตหาได้ไม่
(หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 บิดาโจทก์ยื่นใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์และชำระเงินฝากสงเคราะห์ สำหรับคุ้มครองการเสียชีวิต และเพิ่มเติมคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
2 วันที่ 15 มีนาคม 2562 เสียชีวิต
3 วันที่ 21 มีนาคม 2562 และวันที่ 11 เมษายน 2562 จำเลยมีหนังสือปฏิเสธการรับฝากเงินสงเคราะห์และโอนเงินคืนให้แก่ผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะอนุมัติให้รับฝากเงินสงเคราะห์ได้
4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
5 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
6 จำเลยฎีกาว่า ผู้จัดการสาขาเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยในการรับคำเสนอขอเอาประกันภัยจากลูกค้าแล้วส่งคำขอต่อไปยังผู้อำนวยการสำนักฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิต ธนาคารจำเลยสาขาไม่มีอำนาจรับประกันภัยได้
7 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้ความสมบูรณ์ในการทำสัญญาประกันชีวิตจะถือว่าการแสดงเจตนาทำคำขอเอาประกันชีวิตของผู้บริโภคเป็นเพียงคำเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจรับประกันภัย และตราบใดที่ผู้รับประกันภัยยังมิได้พิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ขอแต่ละรายแล้วทำคำสนองรับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจะยังมิได้เกิดขึ้นดังที่จะมายกขึ้นเป็นข้อฎีกา แต่เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจธนาคารรับฝากเงินเป็นปกติธุระมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัย ทั้งการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ของจำเลยด้วยข้อความสำคัญที่ว่าเป็นการฝากเงินสงเคราะห์แบบคุ้มครองสินเชื่อแก่ลูกค้าผู้กู้ของธนาคาร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ฝากเงินสงเคราะห์และเงื่อนไขสำคัญ ว่าผู้ฝากเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรลูกค้าผู้กู้และคู่สมรส โดยมีถ้อยคำเรื่องการฝากเงินสงเคราะห์เป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าข้อความบ่งชี้เกี่ยวกับการชำระเบี้ยประกันชีวิต ย่อมทำให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจได้ตามสามัญสำนึกว่าหากผู้ตายเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลยนำเงินไปฝากกับจำเลยตามจำนวนและต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาแล้วผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่างๆ
8 และศาลฎีกาได้มีมีคำวินิจฉัยดังที่กล่าวมาข้างต้น พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยนับแต่ วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้คิดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849