รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

2 ตุลาคม 2024
4866   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3401.สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอาง เป็นสัญญาจ้างทำของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2566 (เล่ม 7 หน้า 127) สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการเฉพาะมุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่โจทก์สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่เคยผลิตเครื่องสำอางเป็นผลสำเร็จและส่งมอบผลงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้แม้แต่ชิ้นเดียว แม้จำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการคิดค้น วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาสูตร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้โจทก์จนสามารถนำไปขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้บอกสูตรในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว ตลอดจนส่วนประกอบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นให้โจทก์ทราบ เนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ หากโจทก์ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้นจะต้องว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตเท่านั้น แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่สามารถนำสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้นตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่จำเลยทั้งสองตระเตรียมไว้ไปใช้ประโยชน์หรือว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการผลิตต่อให้แล้วเสร็จได้เลย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสาม

(หมายเหตุ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิตสินค้าประเภทเครื่องสำอางและบรรจุภัณฑ์แบบเบ็ดเสร็จ 3 รายการ

2 ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2562 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินมัดจำและค่าดำเนินการขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลคืน

3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และให้โจทก์มารับวัสดุอุปกรณ์ไปจากโรงงานและชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ตระเตรียมไว้สำหรับผลิตเครื่องสำอางแก่จำเลยทั้งสอง

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587

5 และศาลฎีกายังได้วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถผลิตเครื่องสำอางให้แล้วเสร็จตามสัญญาว่าจ้างได้โดยแน่แท้ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตราบใดที่การว่าจ้างยังทำไม่เสร็จ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 605 และมาตรา 386

เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ในภายหลังก็ไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาได้อีก กรณีหาใช่เป็นการที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน

6 กรณีที่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์และนำมาหักกลบลบหนี้ได้)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849