รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

2 มกราคม 2024
523   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3127.คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด ตกเป็นโมฆะ ต่อมามีการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ทำให้เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1883/2566 (หน้า 1806 เล่ม 8) ข้อสัญญาที่จำเลยที่ 1 ให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้นับแต่วันทำสัญญาแก่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งเป็นคณะกรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนพลุพ้อที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 ในอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตกเป็นโมฆะมาแต่ต้นตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายขณะทำสัญญากู้ ประกอบ ป.พ.พ.มาตรา 654 แม้ต่อมาโจทก์ทั้งสิบสองมีระเบียบกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนพรุพ้อ พ.ศ. 2555 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่จากอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือน หรือร้อยละ 18 ต่อปี มาเป็นร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ทำให้ข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะแล้ว กลับมาเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้อีก กรณีไม่ใช่ข้อสัญญาการกำหนดค่าเสียหาย อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ

โจทก์ทั้งสิบสองในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยที่ 1 ไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนก็ห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ทั้งสิบสองก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองไปหักต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้เงิน แต่โจทก์ทั้งสิบสองยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่งได้

สัญญากู้เงินและระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนพรุพ้อมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งเป็นคณะกรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์พรุพ้อในฐานะเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และภายหลังแต่นั้นโจทก์ทั้งสิบสองได้ให้คำเตือนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าผิดนั้นเพราะเขาเตือนแล้วนับแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 โจทก์ทั้งสิบสองมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือ โดยมีผู้ลงชื่อรับแทนจำเลยที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าววันที่ 14 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป

ป.พ.พ.มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ที่ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ ย่อมนำมาใช้บังคับกับสัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่บทบัญญัติดังกล่าวซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ตามมาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย

จำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 โจทก์ทั้งสิบสองมีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะผิดนัดวันที่ 15 สิงหาคม 2562 การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การบอกกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ และหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ทั้งสิบสองไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าว แจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 อีก และโจทก์ทั้งสิบสองจะเรียกให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ โจทก์ทั้งสิบสองจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)